การเลือกใช้ฟอนต์ในเว็บไซต์ให้เหมาะสม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างนึงในการพัฒนาเว็บไซต์ เพราะนอกจากฟอนต์จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี น่าเชื่อถือ โดนใจผู้ใช้แล้ว ในด้านที่ไม่ดี อาจจะส่งผลให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกไม่สบายตา จนไปถึงรำคาญ และออกจากเว็บไซต์ไป ซึ่งผลลัพธ์ที่กลับมา ก็ไม่น่าจะดีแน่
ส่วนใหญ่ ผมมักจะเจอปัญหาการเลือกใช้ฟอนต์ในเว็บไซต์อยู่ 2 แบบ แบบแรกคือ “ฟอนต์สวยแต่อ่านยาก” กับสอง “ฟอนต์ธรรมดาแต่อ่านง่าย”
ซึ่งถ้าจะว่าเป็น “ปัญหา” จริงๆ คงจะเป็น “ฟอนต์สวยแต่อ่านยาก” ที่ว่าอ่านยากนี่่ ไม่ใช่ทุกตำแหน่งที่มีตัวหนังสือนะครับ แต่จะเป็นบริเวณที่ต้องข้อความหรือเนื้อหาเยอะๆ เช่น เนื้อหาบทความ, ประวัติความเป็นมา เป็นต้น
แล้วอย่างนี้ เราจะเลือกใช้ฟอนต์ยังไงให้ได้ทั้่ง “สวยและอ่านง่าย”?
และหลังจากที่เข้าไปส่องเว็บไซต์ใหญ่ๆ ว่าเค้าเลือกใช้ฟอนต์ยังไง ก็ได้ไอเดียมานำเสนอครับ คือเลือกใช้ฟอนต์ตามความหนาแน่นของตัวหนังสือ ซึ่งก็จะมี 2 แบบครับ
1. พื้นที่ตัวหนังสือไม่หนาแน่น เช่น Menu Bar, Key Message บนแบนเนอร์, Title Page หรือหัวข้อต่างๆ ซึ่งบริเวณเหล่านี้ เราสามารถเลือกใช้ฟอนต์ตามความต้องการได้ เช่น ถ้าเป็นเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับความสนุกสนานของเด็ก ก็สามารถใช้ฟอนต์ Itim หรือ Mali หรือเป็นเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับความเป็นไทย จะเลือกใช้ Charm หรือ Charmonman
2. พื้นที่ตัวหนังสือหนาแน่น เช่น เกี่ยวกับเรา, ข้อมูลสินค้า หรือ เนื้อหาบทความ พื้นที่ส่วนนี้ต้องใช้ตัวหนังสือที่อ่านง่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ฟอนต์ที่มีหัว(Serif) ซึ่งใน Google Fonts มีให้เลือกใช้ฟรีหลายตัวทีเดียว แต่บางเว็บไซต์เลือกใช้ฟอนต์ที่ไม่หัว (San Serif) เช่น Sukhumvit ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามันไม่ชวนให้อ่านยาวๆ
โดยสรุป การเลือกใช้ฟอนต์ในเว็บไซต์ เหมือนเป็นการเลือกระหว่าง “สวยกับอ่านง่าย” ถ้าจะเอาทั้ง 2 อย่าง ก็ต้องเลือกใช้ฟอนต์ 2 แบบตามลักษณะพื้นที่ แต่ถ้ายังไงแล้วจะเลือกใช้แค่ 1 ฟอนต์ ก็ขอฝากให้ความสำคัญเรื่อง “อ่านง่าย” ไว้เยอะๆ นะครับ